วันศุกร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ประวัติเครื่องเงินสุรินทร์(ต่อจากตอนที่แล้ว)

   สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน ไม่รู้ว่าโพสต์ที่ผมโพสต์ก่อนหน้านี้อ่านจบกันหรือยังเอ่ย???
เอาเป็นว่าถ้ายังไม่จบก็ไม่เป็นไรครับ เพราะผมคิดว่าค่อยๆอ่านวันละนิดจิตแจ่มใส เอาละครับผมไม่พูดพร่ำทำเพลงดีกว่า เรามาดูประวัติความเป็นมาของเครื่องเงินสุรินทร์เลยดีกว่าครับ


ปราสาทระแงง
     ปราสาทศรีขรภูมิ ( หรือปราสาทระแงง)  ตั้งอยู่ที่ตำบลระแงง  อำเภอศรีขรภูมิ  จังหวัดสุรินทร์สร้างด้วยอิฐ หิน ทรายและศิลาแลง ประกอบด้วยปรางค์ก่ออิฐ 5 องค์  ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน  หันหน้าไปทางทิศตะวันออก แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส โดยมีปรางค์ประธานตั้งอยู่ตรงกลาง  มีปรางค์บริวารล้อมรอบอยู่ที่มุมทั้งสี่ มีบันไดทางขึ้นและประตูทางเข้าเพียงด้านเดียว คือ ด้านทิศตะวันออก ศาสนสถานทั้งหมดนี้ล้อมรอบด้วยสระน้ำ  3  สระ 
          ปราสาทศรีขรภูมิ   มีจุดเด่นที่ความสวยงามความสมบูรณ์ขององค์ปรางค์ประธาน  ซึ่งมีทับหลัง  ศิวนาฏราช  จำหลักอยู่เหนือกรอบประตู  มีลายจำหลักอยู่ในสภาพที่ค่อนข้างสมบูรณ์  ตรงกลางเป็นพระศิวะ  10  กร  กำลังวาดท่ารำอย่างมีชีวิตชีวา  พระกรซ้ายจีบนิ้ววางอยู่เหนือราวนม พระกรขวายืดออกไปอย่างพอเหมาะ  ประทับอยู่บนแท่นที่มีหงส์สามตัวแบกอยู่  โดยหงส์ทั้งสามยืนอยู่บนหน้ากาล (เกียรติมุข) ที่มีมือทั้งสองจับเท้าสิงห์สองตัว  สิงห์ทั้งสองอยู่ในท่ายืนสองขาหลัง  เท้าหน้าทั้งสองกุมดอกบัวซึ่งบานออกเป็นเกสรต่อด้วยท่อนมาลัยโค้งข้างละสองวง  ไปจดขอบมุมด้านล่างทั้งซ้ายขวา  มีลายก้านต่อดอกและลายก้านขดสลับกับเทพจำนวนมากดังนี้คือ   แถวล่างสุด จำหลักเป็นรูปเทวดาขี่สิงห์  6  องค์  อยู่ในช่องของวงลายก้านขด   แถวกลางชิดกับพระ  ศิวนาฏราช 10 กร  เป็นเทพชั้นผู้ใหญ่ 4 องค์  และฤๅษีอีก 2 องค์  อยู่ริมสุดทั้งสองข้าง  ในท่านั่งคุกเข่าพนมมือ  แถวบนสุด  มีรูปเทวดาร่ายรำ 2 คู่    ด้านละคู่อยู่ในลายก้านขด  เสากรอบประตูสองข้าง  จำหลักบัวหัวเสาต่อเนื่องด้วยลายก้านต่อดอก  ตอนล่างด้านหน้าจำหลักภาพนางอัปสรยืนถือดอกบัวและมีนกแก้วอยู่ที่ดอกบัว  ส่วนโคนเสาล่างสุดเป็นลายเชิงบัว  อีกด้านหนึ่งของเสาเดียวกัน ( ด้านข้าง )  จำหลักลายก้านต่อดอกและมีรูปนายทวารบาลยืนถือกระบองอยู่อย่างสงบ  ปลายกระบองวางแตะพื้นระหว่างเท้าทั้งสอง
         




             เสาจำหลักลาย                                                          ลายจำหลักเครื่องประดับ
ลายจำหลักการแต่งกายของนางอัปสร
จากลายจำหลักที่ทับหลังและซุ้มประตูปรางค์ของปราสาทองค์กลาง ซึ่งได้จำหลักการแต่งองค์ทรงเครื่องประดับด้วยถนิมพิมพาภรณ์อลังการ เช่น นางอัปสรที่แต่งกายด้วยผ้าไหมและเครื่องเงิน  เพชร  ทอง หลายอย่าง ได้เป็นที่มาของงานหัตถกรรมท้องถิ่นที่งดงาม ทรงคุณค่าจวบจนถึงปัจจุบัน หัตถกรรมท้องถิ่น ซึ่งเกิดจากภูมิปัญญาของชาวบ้านที่รังสรรค์เกิดเป็นงานฝีมือที่งดงามและทรงคุณค่า ย้อนหลังไป 270 กว่าปีก่อน เมื่อชาวเขมรกลุ่มหนึ่งได้อพยพข้ามภูเขาบรรทัดเข้ามาตั้งภูมิลำเนาที่บ้านแนงมุด อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ ต่อมาชาวเขมรกลุ่มนี้ก็แยกย้ายเข้าไปตั้งรกรากตามที่ต่างๆ ในภาคอีสานของไทย โดยส่วนหนึ่งก็ไปตั้งภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านเขวาสินรินทร์ ตำบลเขวาสินรินทร์ อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ในปัจจุบัน
ชาวเขมรกลุ่มนี้  มีความเชี่ยวชาญในการตีทอง เป็นวิชาติดตัว เมื่อเข้ามาอยู่ในประเทศไทยก็ได้อาศัยวิชาทำทองดังกล่าวหาเลี้ยงชีพ  โดยทำทองเป็นเครื่องประดับให้กับชาวบ้านที่มีฐานะดี เพราะสมัยก่อนชาวบ้านมักสะสมทองคำ เป็นเม็ดบ้าง เป็นแผ่นบ้าง ไว้เป็นมรดกของตระกูล ทองรูปพรรณจากฝีมือชาวเขมรกลุ่มนี้จึงแพร่หลายในกลุ่มของผู้ที่นิยม ซึ่งมีทั้งสร้อยคอ สร้อยข้อมือต่างหู ต่อมาลูกหลานที่สนใจงานฝีมือช่างก็รับช่วงสืบทอดมรดกทางภูมิปัญญานี้ต่อจากบรรพบุรุษ โดยขุนสินรินทร์บำรุง อดีตกำนันตำบลเขวาสินรินทร์ ได้รับช่วงสืบทอดงานดังกล่าวมา และช่างรุ่นหลังจากท่านก็มี นายช่าง  มุตตะโสภา และนายดาน  สุทธิกลับ ซึ่งการทำงานทองสมัยนั้น ไม่ได้รับจ้างเฉพาะที่ในจังหวัดสุรินทร์เท่านั้น ท่านยังพาลูกหลานหาบเสบียงอาหารเดินทางรอนแรมไปรับจ้างทำเครื่องเงินตามจังหวัดใกล้เคียงอีกด้วย เช่น จังหวัดบุรีรัมย์  ร้อยเอ็ด  ศรีสะเกษ  เป็นต้น
ต่อมา เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน  ทำให้งานทำทองคำพื้นบ้านก็ได้ปรับตัวอีกครั้ง เพราะทองคำเป็นของหายากและราคาแพง  ประกอบกับชาวบ้านส่วนใหญ่นิยมใช้ทองรูปพรรณจากร้านทองสำเร็จรูป ที่รู้จักกันในชื่อ ทองตู้แดง มากกว่า งานทองพื้นบ้านจึงซบเซาลง นายช่างทำทองต่างๆจึงเปลี่ยนมาทำเงินแทน และยังฝึกฝนฝีมืออยู่อย่างสม่ำเสมอ โดยมีผู้นำคนสำคัญ คือ  นายสวาช  มุตตะโสภา,  นายเชียร  ผจญกล้า,  นายป่วน เจียวทอง,  นายพลอน  ผจญกล้า และนายทีน   ชิงชัย  ซึ่งได้ช่วยกันอนุรักษ์หัตถกรรมนี้ไว้และได้นำลูกหลานฟื้นฟูหัตถกรรมนี้ขึ้นมาอีกครั้ง  การเริ่มฝึกหัดวิชาช่างแขนงนี้เหมือนวิชาชีพเชิงช่างทั่วไปที่ต้องมีการบูชาครู ไหว้ครูช่างเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตัว  สามารถจดจำสิ่งที่ครูสอนได้อย่างแม่นยำ  และทุกวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปีจะมีพิธีแซนสน๊อปหรือพิธีไหว้ครูช่าง ซึ่งเครื่องเซ่นไหว้ครู  อันประกอบด้วย หัวหมู ไก่นึ่ง  ธูป  เทียน  ผ้าขาว อาหารคาวหวาน น้ำอัดลม และเหล้าขาว  มีครูช่างอาวุโสเป็นผู้นำกล่าว แสดงความระลึกถึงคุณของครูที่ล่วงลับไปแล้ว

  

   มีประวัติที่น่าสนใจมากๆเลยใใช่ไหมครับ ถ้าอยากรู้ว่ามีอะไรที่น่าสนใจออีก โปรดติดตามตอนต่อไปนะครับ สวัสดีครับ

2 ความคิดเห็น:

  1. อย่างนี้ เครื่องเงิน ก็มีมาเป็นพันปี แล้วใช่ไหม

    ตอบลบ
  2. ประมาณ 270 ปีครับ แต่ที่ชื่อบล็อกว่าเครื่องประดับพันปี ไม่มีตกยุค เพราะเป็นการเปรียบเปรยครับ แม้ว่าระยะเวลาจะผ่านนานแค่ไหน แต่เครื่องเงินก็ยังเป็นที่นิยมอยู่ครับ

    ตอบลบ